การประกาศเปิดตัว MacBook Pro 2 รุ่นใหม่ ได้แสดงให้เห็นว่าแอปเปิล (Apple) กำลังเดินตามแผนการเปลี่ยนผ่านหน่วยประมวลผลที่ใช้งานภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ ‘แมค’ จากยุคของอินเทล (Intel) มาสู่ยุคของแอปเปิล ซิลิคอน (Apple Silicon) ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะหลังการเผยให้เห็นถึง 2 ชิปเซ็ตใหม่ที่ออกมาเปลี่ยนโลกของหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ
ตามกำหนดการที่แอปเปิลวางไว้ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคชิปเซ็ตที่พัฒนาและผลิตเองนั้น จะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับจากที่แอปเปิลเริ่มนำเสนอชิปเซ็ต ‘Apple M1’ ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ต่อเนื่องมาถึง Apple M1 Pro และ Apple M1 Max ในเดือนตุลาคม 2021 และยังมีเวลาอีกกว่า 1 ปี ในการเพิ่มไลน์อัปสินค้าให้ครอบคลุม
โดยหลังจากที่แอปเปิล เพิ่มชิปใหม่ออกมา 2 รุ่น ทำให้ปัจจุบันสินค้าในตระกูลแมค ของแอปเปิลนั้นเหลือเพียงแค่ iMac รุ่น 27 นิ้ว และ Mac Pro เท่านั้นที่ยังใช้หน่วยประมวลผลของ Intel และภายในปี 2022 ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของแอปเปิลจะหันไปใช้งานชิปเซ็ต Apple Silicon ทั้งหมด
ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอปเปิล ระบุว่า ที่ผ่านมาแมค ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้นำไปสร้างสรรค์ผลงาน และนวัตกรรมได้อย่างน่าสนใจ จากการผสมผสานระหว่างซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่ช่วยเสริมประสบการณ์ในการใช้งานให้ง่าย พร้อมกับ Apple Silicon ที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น
“เรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสถาปัตยกรรมที่ใช้งาน เริ่มต้นจาก Apple M1 ชิปรุ่นแรกที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องแมคโดยเฉพาะ และได้ทลายข้อจำกัดหลายๆ อย่างในอุตสาหกรรม ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ใช้งานบนแบตเตอรี่ได้นานขึ้น ในระดับราคาที่จับต้องได้ และกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แมคเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปีที่ผ่านมา”
ข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 จากสำนักวิจัย Canalys พบว่าแอปเปิลมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 9.3% เติบโตต่อเนื่องถึง 14.4% และถือเป็นแบรนด์ที่เติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมพีซี ในช่วงที่หลายๆ แบรนด์ได้รับผลกระทบจากปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลนจากกำลังการผลิตที่ลดลงในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแอปเปิล มีส่วนแบ่งเพียง 8.5% เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นในช่วงที่ใกล้เคียงกับการเปิดตัวแมคบุ๊กรุ่นใหม่ของแอปเปิล แต่ยังจำหน่ายเครื่องแมคไปได้กว่า 7.8 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
“ปีที่ผ่านมาถือเป็นหนึ่งในปีที่ดีที่สุดของผลิตภัณฑ์ในตระกูลแมค และเชื่อว่าจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในวันนี้จะช่วยเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานในกลุ่มมืออาชีพมากขึ้นไปอีก”
***นำ MacBook Pro ที่ทุกคนต้องการกลับมา
นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นตรงกัน เกี่ยวกับการปรับโฉมในครั้งนี้ของแมคบุ๊กว่า เหมือนกับแอปเปิลเดินผิดทางไป 5 ปี สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม MacBook Pro เนื่องจากในการปรับเปลี่ยนดีไซน์ครั้งสุดท้ายของ MacBook Pro ในปี 2017 นั้น ได้นำหลายๆ พอร์ตเชื่อมต่อที่จำเป็นต่อการใช้งานของผู้ใช้ออกไป จนในที่สุดแอปเปิล ก็นำกลับมาใส่ให้ใช้งานกันใหม่ในการปรับโฉมของปี 2021
สิ่งที่เกิดขึ้นในการเปิดตัว MacBook Pro 14.2 นิ้ว และ 16.2 นิ้ว ในปีนี้ คือการนำเทคโนโลยีเดิมที่แอปเปิลเคยใช้งานกับเครื่องแมคอย่าง MagSafe ที่เป็นรูปแบบการชาร์จร่วมกับหัวแม่เหล็กยึดติดกับตัวเครื่อง ช่วยให้เมื่อมีการสะดุดสายชาร์จก็จะหลุดออกจากตัวเครื่อง โดยไม่ลากตัวเครื่องลงไปด้วย มาพัฒนาให้รองรับการชาร์จเร็วเพิ่มขึ้น
โดย MacBook Pro 14 นิ้ว สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องราว 17 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า 7 ชั่วโมง ในขณะที่ MacBook Pro 16 นิ้ว ใช้งานได้ต่อเนื่อง 21 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า 10 ชั่วโมง ประกอบกับเทคโนโลยีชาร์จเร็วใน MagSafe 3 จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถชาร์จแบตเตอรี่เพียง 30 นาที จะได้แบตเตอรี่กลับมาถึง 50% ช่วยให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ก็ปรับดีไซน์กลับไปใกล้เคียงกับรุ่นก่อนหน้า ด้วยการนำพอร์ต HDMI และช่องเสียบการ์ด SDXS กลับมา ช่วยให้ผู้ใช้งานที่เป็นครีเอเตอร์สามารถโอนย้ายไฟล์ภาพ หรือวิดีโอได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องคอยพกพาอะแดปเตอร์เสริมไปเชื่อมต่อกับพอร์ต Thunderbolt อีกต่อไป
อีกจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือส่วนของคีย์บอร์ด ที่นำทัชบาร์ (Touch Bar) ที่เป็นแถบสัมผัสในการสั่งงานเหนือคีย์บอร์ดออกไป แทนที่ด้วยปุ่มฟังก์ชันจริงๆ รวมถึงปรับปุ่ม Escape ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับกับการใช้งานของกลุ่มนักพัฒนาที่ต้องการการตอบสนองที่คุ้นเคย
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจมากขึ้นใน MacBook รุ่นใหม่นี้ คือเรื่องของการแสดงผลที่นำเทคโนโลยีอย่าง Mini-LED แบบเดียวกับใน iPad Pro มาใช้งาน ทำให้ได้จอแสดงผลคุณภาพสูงระดับ Liquid Retina XDR ที่ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุด 1,000 นิต และเพิ่มความสว่างได้ถึง 1,600 นิต รวมถึงรองรับการแสดงผลคอนเทนต์แบบ HDR ที่ให้ขอบเขตสีกว้างขึ้น และมากับเทคโนโลยี ProMotion ปรับอัตราการแสดงผลหน้าจอได้สูงสุดที่ 120 Hz
การที่หน้าจอแสดงผลได้สว่างขึ้นจะเข้าไปตอบโจทย์ผู้ที่นำ MacBook Pro ไปใช้งานในที่สว่าง อย่างการนำไปใช้งานในกองถ่ายภาพยนตร์ ที่ต้องออกกองท่ามกลางสภาพแดดจ้า จะช่วยให้ผู้ใช้งานระดับมืออาชีพยังสามารถใช้งานหน้าจอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สุดท้ายคือจุดที่ทำให้ MacBook Pro 14 และ 16 นิ้ว น่าสนใจมากที่สุดคือเรื่องของการประมวลผลที่ในรุ่นเริ่มต้นให้ประสิทธิภาพของซีพียูแรงขึ้นถึง 70% และจีพียูแรงขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับชิป M1 รวมถึงยังรองรับหน่วยความจำแบบรวมที่สูงสุด 32 GB เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว
***ไม่ใช่แค่ Intel แต่กระทบถึง AMD - NVIDIA
การพัฒนาสถาปัตยกรรม M1 ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นใน M1 Pro และ M1 Max ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิปเซ็ตเดิมอย่าง Intel ที่แอปเปิลตัดสินใจเลิกใช้งาน จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดหายไปเท่านั้น แต่ด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการประมวลผลภาพ (จีพียู) ทำให้ผู้ผลิตการ์ดจออย่าง AMD Radeon และ NVIDIA GeForce ที่เดิมมีการนำมาใช้งานร่วมกันในเครื่องแมครุ่นท็อปๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย
ภายใต้การออกแบบ M1 ในลักษณะของสถาปัตยกรรม System on Chip (SoC) ทำให้ชิปเซ็ต M1 Pro และ M1 Max ให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลต่อวัตต์ หรือพลังงานที่ใช้ไปอยู่ระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมในทันที และยังช่วยประหยัดพลังงานขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน การเลือกใช้งานหน่วยความจำรวม (Unified Memory) ที่เพิ่มได้สูงสุดถึง 64 GB ทำให้ชิปสามารถเลือกจัดสรรหน่วยความจำไปใช้งานในซีพียู และจีพียูได้ตามความต้องการ จนทำให้การประมวลผลภาพบนโน้ตบุ๊กที่เน้นกราฟิกหนักๆ ทำงานได้ดีที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแล็ปท็อปรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน เพราะมีหน่วยความจำกราฟิกเพียง 16 GB เท่านั้น
ทั้งนี้ ในช่วงหลังที่การประมวลผลบนโน้ตบุ๊กเริ่มสูงขึ้น การวัดผลถึงประสิทธิภาพได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้การคำนวณจากประสิทธิภาพที่ได้เทียบกับพลังงานที่ใช้ ซึ่งที่ผ่านมาแล็ปท็อปที่ใช้ซีพียูของทั้งอินเทล และเอเอ็มดี จะประมวลผลได้แรงขึ้น เมื่อใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทำให้โน้ตบุ๊กที่ประสิทธิภาพสูงอย่างเกมมิ่งจะมากับเครื่องที่มีขนาดหนา และใหญ่ เพื่อรองรับให้แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ และระบบระบายความร้อนที่เพียงพอให้ตัวเครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
ในจุดนี้ การออกแบบของสถาปัตยกรรม M1 ได้เข้ามาช่วยให้แอปเปิล สามารถปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว จนทำให้ M1 Pro และ M1 Max ได้ประสิทธิภาพเร็วกว่าโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปถึง 1.7 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 70% ทำให้ในขณะที่ฝั่งของการประมวลผลภาพนั้น สามารถทำได้ใกล้เคียงกับรุ่นท็อปโดยใช้พลังงานน้อยกว่าสูงสุดถึง 40% โดยเฉพาะใน M1 Max ที่เทียบกับไฮเอนด์โน้ตบุ๊กขนาดใหญ่สุดแล้วยังได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่ใช้พลังงานน้อยกว่าสูงสุด 100 วัตต์
นั่นแปลว่า ในงานที่ต้องการใช้การประมวลผลหนักๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้งานระดับมืออาชีพที่นำไปใช้ในการตัดต่อวิดีโอ หรือเรนเดอร์ไฟล์กราฟิกต่างๆ MacBook Pro ที่ใช้งาน M1 Pro และ M1 Max จะประมวลผลได้สูงที่สุดแม้ว่าจะใช้งานบนแบตเตอรี่ หรือเชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ในการทำงาน เพราะได้มีการใส่ตัวเร่งสำหรับการสร้างวิดีโอระดับมืออาชีพอย่าง ProRes 4K และ 8K มาให้ใช้งาน ซึ่งเมื่อเทียบกับ MacBook Pro 16 นิ้วรุ่นก่อนหน้าจะสามารถแปลงไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงได้เร็วขึ้นถึง 10 เท่า
พร้อมกับการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์มาช่วยประมวลผล จากเดิมที่ M1 มีทรานซิสเตอร์สูงถึง 1.6 หมื่นล้านตัว รองรับหน่วยความจำรวม 16 GB ในขณะที่ M1 Pro มีจำนวนทรานซิสเตอร์ถึง 3.37 หมื่นล้านตัว รองรับหน่วยความจำรวม 32 GB และ M1 Max มีจำนวนทรานซิสเตอร์ถึง 5.7 หมื่นล้านตัว รองรับหน่วยความจำรวม 64 GB ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานหน่วยประมวลผลเพื่อตอบสนองการใช้งานได้มากกว่าที่เคย
***ราคาเท่าเดิม ประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในกลุ่ม MacBook Pro สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นมืออาชีพนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูระดับราคาของ MacBook Pro 16 นิ้ว ในตอนที่เปิดตัวใหม่ จะมีรุ่นเริ่มต้นอย่าง Core i7 ที่ 75,900 บาท ในขณะที่รุ่น Core i9 เริ่มต้นที่ 89,900 บาท และปรับแต่งได้สูงสุดด้วยการเลือกใส่ RAM 64 GB SSD 8 TB ในราคา 221,900 บาท
เมื่อกลับมามองถึงราคาเริ่มต้นใน MacBook Pro 14 นิ้ว ที่ 73,900 บาท และ MacBook Pro 16 นิ้ว เริ่มต้นที่ 88,900 บาท ซึ่งถ้าปรับสเปกขึ้นไปสูงสุดที่หน่วยความจำรวม 64 GB SSD 8 TB เช่นกัน จะอยู่ที่ 215,900 บาท เรียกได้ว่าระดับราคาของ MacBook Pro แทบไม่ได้ปรับขึ้นเลย แต่ให้ประสิทธิภาพในการใช้งานสูงขึ้นหลายเท่า
ดังนั้น ในกลุ่มผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ นักพัฒนา ครีเอเตอร์ 3 มิติ ที่ต้องการเครื่องมือไปช่วยให้การลดระยะเวลาทำงานลงหลายเท่า การลงทุนด้วย MacBook Pro เครื่องใหม่ที่ปรับให้รับกับการใช้งานมากขึ้นนี้ จึงเข้าไปตอบโจทย์กลุ่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ
ในจุดนี้ แดเนียล ไอฟ์ นักวิจัยจากอีควิตี้ รีเสิร์ช เชื่อว่า แมคบุ๊กโปรทั้ง 2 รุ่นใหม่จะมีโอกาสจูงใจให้ผู้ที่ใช้งานแมคบุ๊ก โปรเดิมกว่า 30% อัปเกรดขึ้นมาใช้งานรุ่นใหม่นี้ ส่วนในอนาคตเมื่อ Mac Pro และ iMac Pro ออกมาเสริมจะช่วยเร่งให้ธุรกิจแมคของแอปเปิล เติบโตขึ้นไปอีก