Home > สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ > ส่องกลยุทธ์ ‘เลอโนโว’ โอกาสของแบรนด์อันดับ 1 ท่ามกลางชิปเซ็ตขาดแคลน

ส่องกลยุทธ์ ‘เลอโนโว’ โอกาสของแบรนด์อันดับ 1 ท่ามกลางชิปเซ็ตขาดแคลน

การก้าวกลับขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงที่ตลาดกลับมาเติบโต พร้อมกับเผชิญปัญหาวิกฤตขาดแคลนชิปเซ็ตที่ส่งผลกระทบทั่วโลกของ ‘เลอโนโว’ (Lenovo) แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการซัปพลายเชนของเบอร์1 พีซีโลกในเวลานี้ได้อย่างชัดเจน

​ปัจจุบัน เลอโนโว ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาดพีซีโลกด้วยส่วนแบ่งกว่า 23.8% ส่วนในประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่ 21.8% โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊ก ที่ถือว่าขึ้นอันดับ 1 จากผลสำรวจของจีเอฟเค ที่ 24.9% และเป็นแบรนด์ที่ผลิตภัณฑ์เกมมิ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดทั้งในไทย และภูมิภาคด้วย

​ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เลอโนโว เคยตั้งเป้าในการชิงส่วนแบ่งตลาดโน้ตบุ๊กประเทศไทยปีนี้ไว้ที่ 25% แต่กลายเป็นว่าจากผลสำรวจล่าสุดที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 24.9% แล้ว แสดงให้เห็นถึงการตอบรับของผู้บริโภคในไทย ที่มีความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

​วรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้จัดการทั่วไปประจำ พม่า ลาว กัมพูชา และผู้อำนวยการส่วนธุรกิจคอนซูเมอร์ประจำไทย เลอโนโว กล่าวถึงภาพรวมตลาดพีซีในประเทศไทยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า มีการเติบโตทั้งในกลุ่มของคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะในกลุ่มไฮเอนด์ที่มีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ทั้งในลักษณะของการใช้งานทั่วไป จนถึงกลุ่มที่ต้องการนำไปขุดบิตคอยน์ และบรรดาเกมเมอร์ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงไปใช้งาน

​แน่นอนว่า เมื่อมีกำลังซื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตก็คือการจัดหาซัปพลายมาให้สอดคล้องกับดีมานด์ความต้องการของผู้บริโภค และด้วยการที่ปัจจุบันเลอโนโว ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดนี้ มีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิปเซ็ตอย่างใกล้ชิด ทำให้ถือว่าได้เปรียบในแง่ของปริมาณชิปเซ็ตที่จัดส่งมาให้มากที่สุด จึงอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าแบรนด์อื่นๆ

​‘ขนาดเลอโนโวที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่ารายอื่น และสามารถสร้างการเติบโตโดยเฉพาะในกลุ่มไฮเอนด์ได้นั้น ยังต้องยอมรับว่า สามารถตอบรับความต้องการของตลาดได้เพียง 50% เท่านั้น และเชื่อว่าสถานการณ์นี้จะอยู่ต่อเนื่องถึงปีถัดไปด้วย’

​สอดคล้องกับข้อมูลจากจีเอฟเค ที่เผยให้เห็นว่า ตลาดไอที และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ถือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากด้วยรูปแบบการทำงาน และการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องใช้งานสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

​แน่นอนว่าเมื่อเทียบกันในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ชุดอุปกรณ์เครื่องเสียง ลำโพง โฮมเธียเตอร์ และกล้องถ่ายภาพดิจิทัล มีเพียงในกลุ่มของคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วนที่มีความจำเป็นเท่านั้น ที่เติบโต ในขณะที่ตลาดอื่นๆ มียอดขายลดลง

​‘เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่าตอนนี้ผู้ผลิตทุกแบรนด์กำลังมีปัญหาการขาดแคลนสินค้า ทำให้พฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไป มองหาเครื่องที่ตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวมากขึ้น จากเดิมที่เคยซื้อรุ่นเริ่มต้น ก็มองไปถึงรุ่นระดับกลางบนที่ใช้งานได้ยาวนานกว่า’

​ขณะเดียวกัน เมื่อปริมาณการผลิตชิปเซ็ตทำได้น้อยลง บรรดาผู้ผลิตก็จะหันไปโฟกัสกับการผลิตชิปเซ็ตประสิทธิภาพสูงให้ได้จำนวนมาก แทนการกระจายผลิตชิปเซ็ตหลากหลายรุ่น ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มกลาง-เริ่มต้น ประสบปัญหาการขาดแคลนมากกว่า

​พร้อมกับเป็นเหตุผลให้ในปีนี้ ราคาเฉลี่ยสินค้าของโน้ตบุ๊กเพิ่มขึ้นในตลาดรวมจะอยู่ที่ราว 19,000 บาท จากช่วงต้นปีขึ้นมาเป็น 21,000 บาท ในขณะที่ของเลอโนโว ราคาเฉลี่ยในช่วงต้นปีจะอยู่ที่ 16,000 บาท และปรับเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 23,500 บาท เทียบได้ว่าสูงขึ้น 37% เมื่อเทียบกับตลาดที่เติบโตประมาณ 10%

​อย่างไรก็ตามในส่วนของตลาดกลุ่มเริ่มต้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีความจำเป็นต้องเลือกซื้อพีซี หรืออุปกรณ์พกพาเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนออนไลน์ ก็ยังมีการเติบโตที่สูงมาก แบ่งเป็นตลาดที่เรียกว่า Easy Going หรือโน้ตบุ๊กในช่วงระดับราคาหมื่นนิดๆ รวมถึงกลุ่มแท็บเล็ตที่เลอโนโว เติบโตถึง 800%

​‘ผู้ปกครองบางกลุ่มจะเลือกซื้อแท็บเล็ตขนาดหน้าจอ 8-10 นิ้ว ไปใช้สำหรับการเรียนออนไลน์แทน เพราะมีขนาดใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊ก และสินค้ามีเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ในขณะที่โน้ตบุ๊กรุ่นเริ่มต้นกลายเป็นสินค้าที่ขาดตลาด’

***เปิดเทรนด์คอนซูเมอร์ เติมความต้องการผู้ใช้

นอกจากเรื่องกำลังซื้อ และความต้องการแล้ว อีกสิ่งที่เข้ามาช่วยผลักดันให้ เลอโนโว เติบโตในช่วงที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคใน 5 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.ผู้บริโภคชอบอะไรที่รวดเร็วทันใจเพื่อตอบสนองความต้องการมากยิ่งขึ้น 2.เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ทำให้มีความต้องการที่หลากหลาย

​3.มีความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการออกแบบสินค้า หรือต้องการให้แบรนด์รับฟังเสียงจากผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้เลอโนโว ถือเป็นแบรนด์ที่ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการรับฟังความต้องการ ก่อนนำไปวิจัยและพัฒนาซึ่งในช่วงไตรมาส1 ที่ผ่านมา เลอโนโวลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับเงินลงทุน 1,500 ล้านเหรียญในปีก่อนหน้า

​4.ความต้องการสินค้าไอทีที่เติบโตมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เติบโตไปทั้งอีโคซิสเตมส์ และสุดท้าย 5.ช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึง 20%

​วรพจน์ เล่าถึงกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือแบรนด์ต้องมีชนิดสินค้าที่ให้เลือกละเอียดมากขึ้น เพื่อรับกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคทั้งในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เกมเมอร์ ใช้งานภายในบ้าน จนถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฮมดีไวซ์

​อีกประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องคือบริการหลังการขาย ที่กำลังเตรียมแผนเข้าสู่การรับประกันแบบพรีเมียมแคร์ ที่เป็นOnsite Service 100% โดยเฉพาะในกลุ่มเกมมิ่ง ที่จะมีสายด่วนพิเศษที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ในกลุ่ม Legion Ultimate Support

สุดท้ายคือการพัฒนาฟีเจอร์ที่เข้าไปช่วยเรื่องการใช้งานของผู้ใช้ อย่างการทำงานที่บ้าน และเรียนออนไลน์ จะมีการเพิ่มฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนเข้าไป เพิ่มโหมดรักษาดวงตาบนหน้าจอให้เยาวชนได้ใช้งาน จนถึงการนำ AI มาช่วยเตือนพฤติกรรมการใช้งาน ที่อาจก่อให้เกิดการเจ็บ ปวดจากการใช้งานผิดท่าทางได้

***เสริมไลน์ Legion ครบทุกกลุ่ม

สำหรับตัวแปรหลักที่ช่วยให้เลอโนโว เติบโตในช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นสินค้าในกลุ่มเกมมิ่งทั้งผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่ทยอยเข้ามาทำตลาดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปีนี้ เลอโนโว ได้เสริมไลน์สินค้ากลุ่มนี้ พร้อมกับเพิ่มฟีเจอร์ตามความต้องการของลูกค้า

​อย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ Lenovo IdeaPad Gaming 3 ที่ปรับเพิ่มแสดงไฟคีย์บอร์ดแบบ RGB และในตัวเครื่อง Lenovo Legion Tower 5 ที่มาพร้อมระบบไฟภายใน และพัดลม ARGB ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับเลือกสีไฟให้เข้ากับอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้

​‘ตลาดเกมมิ่งยังถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากที่สุด ทั้งสำหรับเลอโนโว และในตลาดรวมพีซี ซึ่งเกิดจากทั้งผู้บริโภคที่นำไปใช้เล่นเกม และกลุ่มครีเอเตอร์ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงไปใช้งาน’

จุดที่สำคัญที่สุดคือการทำราคาโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมกับการ์ดจอรุ่นท็อปซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนที่ขาดแคลนมากที่สุดในท้องตลาดเวลานี้ ให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งกลายเป็นว่าด้วยราคาที่สมเหตุสมผลนี้ ทำให้การเปิดวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกมมิ่งในช่วงปลายปีนี้ ได้เริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจสั่งจองล่วงหน้า ก่อนสินค้าทยอยนำเข้ามาทำตลาดในช่วงเดือนตุลาคม

*** ‘เวอร์ชวล โชว์รูม’ อนาคตร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซ

​ในส่วนของช่องทางจำหน่าย แม้ว่าปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคจะหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้สัดส่วนการซื้อจากช่องทางออนไลน์จึงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 15-25% ตามแต่ละช่วงเวลา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าไอทีจากช่องทางออนไลน์จะอยู่ที่ราว 8-10% เท่านั้น และในกรณีที่กลับสู่สถานการณ์ปกติ เชื่อว่าสัดส่วนการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ผ่านออนไลน์จะอยู่ที่ราว15%

​‘คนไทยยังชอบที่จะออกไปพบปะผู้คน สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนไทยที่ชอบช่วยเหลือกัน ดังนั้นในการออกไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้าน ได้สอบถามข้อมูล สัมผัสอุปกรณ์จริงก่อนเลือกซื้อยังคงเป็นช่องทางหลักอยู่ แต่ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาเวอร์ชวลโชว์รูมขึ้น สัดส่วนเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็ได้’

​ทั้งนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจะแข็งแรงกว่านี้ ถ้าผู้ให้บริการในไทยถึงจุดคุ้มทุน และกลับมาสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังซื้อหลักจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลลดราคาต่างๆ และเมื่อถึงจุดนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตลาดอีคอมเมิร์ซ

​ทางเลอโนโว กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการพัฒนารูปแบบของสโตร์ออนไลน์ให้มีความทันสมัย ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ในลักษณะของ เวอร์ชวลสโตร์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าไปเลือกดูสินค้าในลักษณะของVirtual Reality ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นด้วย

Leave a Comment