Home > สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ > ‘Samsung’ เห็นอะไรในสมาร์ทโฟนจอพับ หลังตลาดไทยดีเกินคาด

‘Samsung’ เห็นอะไรในสมาร์ทโฟนจอพับ หลังตลาดไทยดีเกินคาด

ยอดต้องเพิ่ม 4 เท่า คือเป้าหมายเดิมที่ซัมซุง (Samsung) คาดหวังยอดจองสมาร์ทโฟนจอพับ Samsung Galaxy Z Fold3 / Flip3 5G ในช่วงเปิดตัวเพื่อทำตลาดในประเทศไทย เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า แต่กลายเป็นว่าจากกระแสตอบรับที่เกิดขึ้นทำให้ยอดจองพุ่งขึ้นไปถึง 8 เท่า

ถ้านับเฉพาะยอดจำหน่าย Z Fold3 / Z Flip3 เวอร์ชันพิเศษอย่าง Thom Browne Edition ที่เข้ามาทำตลาดในไทยทั้งหมด 200 เครื่อง และหมดภายในวันแรกที่เปิดให้สั่งจอง แปลว่า ซัมซุง ทำยอดขายในวันเดียวไปแล้วกว่า 18 ล้านบาท ดังนั้น ยอดขายสมาร์ทโฟนจอพับจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญให้ซัมซุงที่เป็นเจ้าตลาดเวลานี้ได้อย่างน่าสนใจ

‘สิทธิโชค นพชินบุตร’ รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มจากในตลาดโลกสมาร์ทโฟนมีอัตราการเติบโตราว 11% เนื่องจากปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่ขาดไม่ได้แล้วในการใช้ชีวิต ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเมื่อถึงเวลาที่เครื่องเสีย เครื่องหาย มีปัญหาก็ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เมื่อถึงเวลา

ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนไปราว 1,378 ล้านเครื่อง และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,535 ล้านเครื่อง โดยในทุกภูมิภาคทั่วโลกมีอัตราการเติบโตกลับมาหลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 รวมถึงเรื่องของกำลังการผลิตต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาในปีนี้ด้วย

จากจำนวนสมาร์ทโฟนหลักพันล้านเครื่องนั้น มีเพียง 2.7 ล้านเครื่องเท่านั้นที่เป็นสมาร์ทโฟนพับได้ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 3.2 เท่า เป็น 8.7 ล้านเครื่อง และแน่นอนว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องไปในทุกๆ ปีกว่า 113% โดยคาดว่าในปี 2025 จะมีสมาร์ทโฟนพับได้ถูกจำหน่ายไปไม่ต่ำกว่า 64.8 ล้านเครื่อง

‘หลายคนอาจจะมองว่าโทรศัพท์พับได้เป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทันโทรศัพท์จอพับ แต่ในอดีตบางช่วงเวลาโทรศัพท์พับได้มีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เกินครึ่ง และผู้บริโภคหลายคนยังชื่นชอบการใช้งานโทรศัพท์พับได้อยู่ จากจุดประสงค์หลักคือต้องการเครื่องที่มีขนาดเล็กพกพาได้ และเมื่อกางหน้าจอออกมาก็ใหญ่เพียงพอให้ใช้งาน’

ประกอบกับเมื่อพฤติกรรมในการใช้งานเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่กันมากขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งพบว่ายิ่งเครื่องมีขนาดหน้าจอใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ การพกพาใช้งานกลับไม่สะดวกมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สมาร์ทโฟนจอพับเข้ามาแก้ปัญหานี้ และกลายเป็นการนำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาพัฒนาให้เหมาะกับยุคสมัยนี้

***ตลาดพรีเมียมยังเติบโต

นอกเหนือจากความต้องการใช้งานแล้ว มีข้อมูลที่เข้ามาแสดงให้เห็นถึงสภาพตลาดโดยรวมของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนในประเทศไทยคือ ข้อมูลยอดขายสมาร์ทโฟนจากทาง GFK ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมรับนวัตกรรม และมีกำลังซื้อสูงแม้อยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้

สำหรับภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในไทย ถ้ามองกันที่มูลค่ารวมของตลาดในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,197 ล้านเหรียญ (7.2 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 1% เป็น 2,217 ล้านบาท (7.3 หมื่นล้านบาท) แน่นอนว่า การเพิ่มขึ้นเพียง 1% อาจจะดูแล้วเป็นตลาดที่เติบโตค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มตลาดที่เติบโตกลายเป็นว่าสมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียม หรือระดับราคาเกิน 20,000 บาท นั้นเติบโตขึ้นถึง 11%

ในขณะที่สมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 20,000 บาท มูลค่ารวมลดลงถึง 4% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคบางกลุ่มแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และยังมีกำลังซื้อต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มเริ่มต้นใช้งาน หรือผู้บริโภคทั่วไปกลับมองหาสมาร์ทโฟนในระดับราคาที่ต่ำลง เน้นความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในไทยที่เปิดเผยออกมาว่า ปีที่ผ่านมามีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนไปราว 8.4 ล้านเครื่อง โดยเป็นกลุ่มพรีเมียมประมาณ 8 แสนเครื่องเท่านั้น และในปีนี้ก็จะอยู่ที่ราว 8 แสนเครื่องเช่นเดิม แต่ในกลุ่มราคาต่ำกว่า 20,000 บาท จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 7.6 ล้านเครื่อง เป็น 7.8 ล้านเครื่อง

จะเห็นได้ว่าราคาเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียมนั้นเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แม้ว่ายอดขายเครื่องจะมีไม่ถึง 10% ของตลาด แต่ในแง่ของมูลค่าแล้วคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของตลาด ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้ซัมซุงมั่นใจว่า จนถึงปัจจุบันนี้ ซัมซุงยังคงเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในไทยอยู่ดี

***จูงใจคนเปลี่ยนแบรนด์

นอกเหนือจากในแง่ของยอดขาย อีกมุมที่น่าสนใจคือ ‘อินไซต์’ ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค โดยทาง SmartSwitch ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนจอพับตระกูล Galaxy Z เทียบกับสมาร์ทโฟนในตระกูล Galaxy S ซีรีส์ พบว่า มีผู้บริโภคถึง 30% ที่เปลี่ยนจากการใช้งานแฟลกชิปแบรนด์คู่แข่งมาใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับ เมื่อเทียบกับรุ่นแฟลกชิปปกติซึ่งจะอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น

‘จากการทำตลาดสมาร์ทโฟนจอพับมาตั้งแต่รุ่น 1 รุ่น 2 ต่อเนื่องมายังรุ่นที่ 3 ต้องยอมรับว่าผู้ที่หันมาใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับแล้วจะไม่ค่อยกลับไปใช้งานสมาร์ทโฟนรูปทรงปกติ เพราะการที่มีจอแสดงผลขนาดใหญ่สร้างความสะดวกให้ชีวิต รองรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงเห็นการใช้งานสมาร์ทโฟน 2 เครื่อง โดยใช้จอพับเป็นเครื่องหลักด้วย’

เมื่อรวมกับการตอบรับของผู้บริโภคในไทย จึงทำให้ ซัมซุง ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มเติม จากปริมาณความต้องการสมาร์ทโฟนจอพับที่เพิ่มมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยในเบื้องต้นซัมซุงคาดว่าจะมียอดสั่งจองล่วงหน้าเพิ่มขึ้นราว 4 เท่า เมื่อเทียกับ Galaxy Z Fold2 และ Galaxy Z Flip แต่กลายเป็นว่าเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ขณะเดียวกัน ปริมาณความต้องการสมาร์ทโฟนจอพับนี้ ส่งผลให้ไทยกลายเป็น 1 ใน 3 ประเทศหลักในภูมิภาคอาเซียนรวมกับโอเชียเนีย ที่มียอดสั่งจองสมาร์ทโฟนจอพับสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการบริหารจัดการสินค้าที่จะทยอยนำเข้ามาทำตลาดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

‘ทุกคนทราบกันดีว่าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปเซ็ต ทำให้ซัปพลายที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมีจำกัดพอสมควร แต่การที่เริ่มเข้าใจลักษณะของปัญหามากขึ้น ซึ่งทางซัมซุงเข้าไปทำงานกับผู้ผลิตชิปเซ็ตอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการให้ดีที่สุด และคิดว่าปัญหานี้จะอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง’

***ผลักดันจอพับสู่ ‘เมนสตรีม’

เมื่อถามถึงเป้าหมายระยะยาวของซัมซุงในการทำตลาดสมาร์ทโฟนจอพับ สิ่งที่ ‘สิทธิโชค’ อยากเห็นคือการที่สมาร์ทโฟนจอพับกลายมาเป็นรูปแบบการใช้งานสมาร์ทโฟนปกติที่ทุกคนใช้กันเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนที่โทรศัพท์ซัมซุงจอพับครองตลาดอยู่ในเวลานั้น

แน่นอนว่า ด้วยระดับราคาของสมาร์ทโฟนจอพับในปัจจุบันนี้อาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยีสามารถผลิตสมาร์ทโฟนจอพับได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง การได้เห็นสมาร์ทโฟนจอพับในมือของทุกคนจึงกลายเป็นจุดประสงค์หลักของซัมซุงก็ว่าได้

‘ซัมซุง เลือกชัดเจนแล้วว่าจะนำนวัตกรรมมาปรับให้เข้ากับคนไทย ที่กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำตลาดที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการนำฟีดแบ็กของผู้ใช้กลับไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น’

อย่างใน Samsung Galaxy Z Fold3 และ Galaxy Z Flip3 มีการนำความเห็นของผู้ใช้ไปปรับปรุงใน 3 เรื่องสำคัญคือ เรื่องของความแข็งแรงของหน้าจอพับ โดยทางซัมซุงได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำให้หน้าจอแข็งแรง และทนทานต่อแรงขีดข่วนมากขึ้น รวมถึงในแง่ของการทนน้ำ ที่ปัจจุบันทั้ง 2 รุ่น ถือเป็นสมาร์ทโฟน 2 รุ่นแรกที่ทนน้ำระดับ IPX8

ถัดมาคือ การเพิ่มความสามารถให้ใช้งานได้หลากหลาย และนานขึ้น อย่างใน Fold3 เพิ่มความสามารถในการใช้งานร่วมกับ S Pen ทำให้สามารถใช้ในการจดบันทึกข้อมูล ขีดเขียน วาดภาพได้ทันที ส่วนใน Flip3 เพิ่มความสะดวกในการใช้งานแบบไม่กางหน้าจอด้วยจอแสดงผลภายนอกที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับการเลือกนำชิปเซ็ตประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานต่ำมาช่วยให้ระยะเวลาการใช้งานเพิ่มขึ้น

สุดท้ายคือ การทำระดับราคาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปิดราคาเริ่มต้นของ Flip3 ที่ 34,900 บาท ซึ่งถือว่าต่ำลงกว่า Galaxy Z Flip หลักหมื่นบาท และในรุ่น Fold3 ราคาปรับลดลงจากรุ่นก่อนหน้าถึง 12,000 บาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 61,900 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วถือว่าอยู่ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกันแต่ iPhone ยังไม่สามารถใช้งานแบบจอพับได้นั่นเอง

โดยรวมแล้วสิ่งที่ ซัมซุงคาดหวังจากสมาร์ทโฟนจอพับ คือ การเข้ามาทำให้ส่วนแบ่งตลาดในระดับพรีเมียมที่ดีอยู่แล้วให้แข็งแรงมากขึ้น และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อตลาดรวมที่จะช่วยให้ซัมซุงรักษาการเป็นผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือไว้ได้ด้วย

Leave a Comment